‘ดร.เอ้’ เชื่อความจริงใจช่วยไทยคุยสหรัฐฯได้ พร้อมเดินหน้าขอใช้การศึกษาเชื่อมความสัมพันธ์
ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภามหาวิทยาลัย CMKL University มหาวิทยาลัย AI แห่งแรกของไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ...
"ก้าวใหม่ ไทย-สหรัฐ เราต้องไปด้วยกัน"
4 หมุดหมาย เปลี่ยน 'เหินห่าง' เป็น 'ใกล้ชิด' ไทยได้ประโยชน์
"นโยบายเพิ่มภาษีนำเข้า" ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรง และยังสะท้อนความสัมพันธ์ที่ 'เหินห่าง' กับไทย
แต่สหรัฐกลับไป 'ใกล้ชิด' กับ 'เวียดนาม' ที่ได้รับการเอื้ออย่างมาก ทั้งด้านภาษี ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค และด้านสนับสนุนการศึกษา
เราต้องยอมรับว่า ระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา มีความสำคัญยิ่ง ต่อทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการศึกษาของประเทศไทย มากกว่าประเทศใดในโลก
เมื่อ 'ความใกล้ชิด' เปลี่ยนเป็น 'ความเหินห่าง' ประเทศไทยต้องทำอย่างไร คงเหลือทางเดียว คือ การพบปะ พูดคุย แสดงความจริงใจ ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายเดียว
ผมเชื่อมั่น อเมริกาพอคุยได้ เพราะความสัมพันธ์ไทย-อเมริกัน ลึกซึ้ง ยาวนาน คนอเมริกันรักคนไทย นโยบายเปลี่ยน แต่ความสัมพันธ์อย่าให้เปลี่ยน
การเดินทางของผมในฐานะ 'นายกสภามหาวิทยาลัย' และทีมผู้บริหารของ CMKL University 'มหาวิทยาลัย AI แห่งแรกของไทย' เพื่อ 'ยกระดับความสัมพันธ์' ใกล้ชิด กับสหรัฐ ทางด้านการศึกษา ด้านงานวิจัยด้าน AI และด้านวิศวกรรมการชีวการแพทย์ และด้านการบริหารอุตสาหกรรม คือ 'เป้าหมาย'
หมุดหมายแรก เราจะเดินทางไปมหาวิทยาลัย Claremont หนึ่งในสุดยอดมหาวิทยาลัย ใกล้กับเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอเนียร์ เพื่อโน้มน้าว 'คณะบริหารธุรกิจ Drucker School of Management' สุดยอดด้านการบริหารองค์กรของโลก ที่ก่อตั้งโดย ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ดรักเกอร์ 'บิดาแห่งศาสตร์บริหารยุคใหม่' ให้มาตั้งฐานในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อสอน 'เด็กไทย' ให้เป็นผู้ประกอบการชั้นยอด และเพื่อสอน SME ไทยให้ 'ก้าวทันโลก' แข่งขันได้
หมุดหมายที่ 2 เราบินต่อไปยังเมือง "ซานฟรานซิสโก" เพื่อสร้างความร่วมมือกับ สถาบัน QB3 - California Institute for Quantitative Biosciences จากวิสัยทัศน์ "ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอเนียร์" ก่อตั้งเพื่อ "รวมพลัง 3 มหาวิทยาลัยระดับโลก" ในรัฐแคลิฟอเนียร์ สร้างงานวิจัย สู่อุตสาหกรรม สู่ startup
เด็กได้ทุนเรียนหนังสือ มหาวิทยาลัยได้ผลงาน นักลงทุนได้ผลตอบแทน สุดยอดมาก ผมตั้งใจ จะนำโมเดลนี้ มาใช้ที่ 'ประเทศไทย' ให้เด็กไทย "เรียนฟรี มีงานทำ มีธุรกิจ"
หมุดหมายที่ 3 เราเดินทางต่อไปยัง 'กรุงวอชิงตัน ดีซี' เพื่อหารือกับ 'กองทุนฟูลไบรท์' ที่ให้ทุนเด็กทั่วโลกได้เรียนที่สหรัฐ แม้วันนี้รัฐบาลทรัมป์ตัดงบไปเยอะ แถมยังให้ทุนเด็กไทยน้อยลง เปรียบเทียบกับเวียดนามที่มีเด็กไปเรียนอเมริกามากที่สุด เป็นอันดับ 5 แล้ว
ผมตั้งใจจะขอการสนับสนุนให้นักศึกษาไทยมากกว่าเดิม และให้กองทุนผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐ ส่งเสริมให้เด็กไทย มีโอกาสเข้าเรียนใน 'มหาวิทยาลัยชั้นนำ' ได้มากกว่าเดิม ได้กลับมารับใช้ประเทศไทย
หมุดหมายที่ 4 เยือน Carnegie Mellon University มหาวิทยาลัยท็อปของโลกด้าน AI ที่เมืองพิตส์เบิร์ก ที่ผมดึงมาตั้งที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกในอาเซียน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 ในชื่อมหาวิทยาลัย CMKL เพื่ออัปเดตงานวิจัยด้าน AI ระดับโลก และขอให้ยังคงรับเด็กไทยไปเรียนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ AI และสาขาอื่นๆ ในระดับปริญญาตรี โท และเอก
ภารกิจสร้างความสัมพันธ์ 'ด้านการศึกษา' 'ด้านงานวิจัย-นวัตกรรม' และ 'ด้านพัฒนา SME ไทย' กับสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ สำคัญมาก เพราะอาจเป็น 'จุดเปลี่ยน' ให้สหรัฐกลับมาสนใจ สนับสนุน และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทยเหมือนอดีต
ผมหวังว่า "ความสำเร็จ" จากการเดินทางของผมและทีมในครั้งนี้ จะเกิด "ผลประโยชน์" ต่อการ "สร้างคนไทย" ให้มีโอกาส ได้ยกระดับทักษะ การศึกษา ด้านเทคโนโลยีมูลค่าสูง สู่การต่อยอดเป็น "เศรษฐกิจใหม่" ให้ไทยรอดและเติบโตได้ ในโลกของการแข่งขันที่รุนแรงที่สุดนี้
ขอกำลังใจจากคนไทยทุกคน ด้วยนะครับ
